วิกฤตเวเนซุเอลา คิดบวกความสุขในมุมเล็กๆ
วิกฤตเวเนซุเอลา
หึ! หา! อะไรนะ?…..ไก่สด ขายอยู่ที่ตัวละ 14.6 ล้าน, นะ นะ-เนื้อวัวกิโลละ 9.5 ล้าน, ขะ-ข้าวสารบรรจุถุงกิโลกรัมละ 2.5 ล้าน อะไรอีกอะไร….กระดาษชำระม้วนละ 2.6 ล้าน โบลิวาร์ (Bolivar) ….มีอะไรเกิดขึ้นที่ประเทศเวเนซุเอลา(Venezuela) วิกฤต เกิดวิกฤต วิกฤติอะไร การเงิน การเมือง และการ การ การ สรุปวิกฤตทุกด้าน แม้กระทั้งระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานอย่างเช่นไฟฟ้า-ประปา…ขนาดนั้นเลยรึ!…
ครับ บทความคิดบวก ความสุขในมุมเล็กๆ ตอน “เวเนซุเอลา” นี้ผมมีประเด็นหนักๆ ของประเทศที่อุดมไปด้วยนางงามและน้ำมันดิบอย่างเวเนซุเอล ประเทศหนึ่งในทวีปอเมริกาใต้มาย่อยในมุมมองส่วนตัว แบบบ้านๆ เป็นตัวของตัวเองให้ได้อ่านกัน
ผมไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญเรื่องต่างประเทศ ไม่ได้มีความรู้เรื่องของประเทศที่จะเอ่ยถึงเลยแม้แต่น้อย แต่เมื่ออ่านข่าวอ่านบทความที่ถูกย่อย-ถูกกรองมาแล้วหลายชั้นจึงอดจะเขียนถึงประเทศดังกล่าวไม่ได้
มา! เรามาแชร์บทเรียน-เรื่องจริงๆ ที่กำลังดำเนินอยู่สู่บทสรุปเป็นบทเรียนเพื่อป้องกันมิให้เกิดขึ้นกับประเทศเราไปพร้อมๆ กัน
เวเนซุเอล่าถือได้ว่าเป็นประเทศที่ร่ำรวยมาก เพราะมีปริมาณน้ำมันดิบเยอะที่สุดในโลก เยอะไม่เยอะก็ประมาณ 20% ของปริมาณน้ำมันดิบที่มีอยู่ทั่วโลกก็แล้วกัน ว่ากันว่าใช้ไปอีก 100 ปีก็ยังไม่หมด และรายได้ร้อยละ 90 คือการส่งออกน้ำมันดิบล้วนๆ ส่วนนางงามเป็นแค่กำไรเท่านั้น….ผมว่านะ
กระทั้งปี 1976 รัฐบาลของประธานาธิบดีคาร์ลอส แอนเดรส เปเรซ ก็ได้ออกนโยบายประชานิยมอันเป็นจุดเริ่มต้นปัญหา และยังเข้าไปแทรกแซง-ควบคุมธุรกิจน้ำมันในประเทศทั้งหมด ด้วยการตั้ง “บรรษัทน้ำมันแห่งชาติ” (Petroleos de Venezuela S.A.) ทั้งๆ ที่รัฐบาลไม่มีความชำนาญเฉพาะด้านในเรื่องนี้เลย กระนั้นผลก็คือรัฐบาลในสมัยนั้นรวยขึ้นแบบสุดๆ แต่กลับบริหารจัดการทรัพยากรที่มีอย่างไร้ประสิทธิภาพ
เขาริเริ่มโครงการประชานิยมนับพัน เพื่อเอาใจฐานเสียง แจกเงินให้คนจนราวกับโปรยทิ้ง สร้างบ้านพักราคาถูกกว่าท้องตลาด เปิดร้านค้าของรัฐบาลโดยขายสินค้าต่ำกว่าความเป็นจริง ผลกระทบตามมาทันทีเมื่อหลายกิจการในภาคเอกชนต่างทยอยปิดตัวลง จนแทบหมดไปจากประเทศก็ว่าได้
นำเข้าสินค้าอุปโภค-บริโภคทุกชนิด ทุกประเภท
กูรวยโว้ยใครจะทำไม…แล้วยังส่งเสริมให้ประชาชนในประเทศเลิกอาชีพเกษตรกรกะจะให้หันไปพึ่งพารัฐบาลเพียงด้านเดียวและมันก็ได้ผลจนผู้คนเคยตัว
กำหนดค่าเงินต่างประเทศเอง จนสินค้าในท้องตลาดไม่เป็นไปตามกลไกความเป็นจริง
ไม่เป็นไรรัฐบาลรวย….ก็ใช้เงินอุดหนุนราคาสินค้านำเข้าแทนที่จะปล่อยให้เป็นอิสระ
อุดหนุนราคาพลังงานทุกชนิดจนผู้คนเผาผลาญราวกับได้มาฟรีๆ
โครงการทั้งหมดทั้งมวลส่งให้นายชาเวซกลายเป็นเทพเจ้าของชาวเวเนซุเอลา แต่ความเป็นจริงหารู้ไม่ว่าโครงการประชานิยมเหล่านั้นกำลังกลายเป็นเนื้อร้ายค่อยๆ กัดกินประเทศไปทีละส่วน น่าขนลุกนะคุณว่าไหม
จนประเทศมีลักษณะเป็นคอมมิวนิสต์กลายๆ ซ้ำยังหันหลังให้อเมริกา หันหน้าไปจับมือกับจีนและรัสเซีย คุ้นๆ นะมุขเนี้ย….แล้วคุณละรู้สึกตะหงิดๆ รึยัง
หลายคนคงอยากถามกลับดังๆ ว่า….ทีมงานรัฐบาลของนายชาเวซรู้ตัวหรือเปล่าที่โครงการเหล่านี้คือเนื้อร้ายของประเทศ “รู้ครับ” แต่ไม่สามารถยกเลิกโครงการได้เลย เพราะกลัวว่าจะกระทบกับฐานเสียงของตัวเอง เมื่อไม่สามารถยกเลิกโครงการประชานิยมได้ ปัญหาใหญ่ที่รัฐบาลในอดีตหลายชุดร่วมกันก่อขึ้นตั้งแต่ยุค 1970 ก็เริ่มส่งผล
เมื่อกิจการน้ำมันของ Petroleos de Venezuela S.A. ประสบภาวะขาดทุน จากการบริหารที่ไร้ประสิทธิภาพ เวเนซุเอลาเลยต้องหันไปกู้เงินจากจีนและรัสเซีย เพื่อมาชดเชย…เขาเรียกว่าซวยซ้ำซวยซ้อน หรือหนีเสือปะจระเข้ชัดๆ คุณว่าไหม
และในปี 2013 นายชาเวซเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็ง โดยเลือกนายมาดูโร่ ขึ้นมาเป็นผู้นำแทนตัวเอง ราคาน้ำมันที่ลดลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2014 ทำให้รายได้ของเวเนซุเอลาที่ผูกกับน้ำมันแทบจะ 100% ยิ่งแย่ลงไปใหญ่ สถานะของผู้นำตอนนี้ ไม่เหมือนกับนายชาเวซอีกแล้ว เขาไม่ใช่เทพเจ้าในสายตาของใครหลายๆ คน ซ้ำร้ายเศรษฐกิจของประเทศก็ยังไม่ดีขึ้น…ราวกับรถบัสที่ชื่อเวเนซุเอลากำลังดำดิ่งลงสู่เหวลึก
ปี 2015 พรรคฝ่ายค้านชนะการเลือกตั้งเป็นครั้งแรกตั้งแต่ปี 1999 แต่ศาลเวเนซุเอลา กลับมีมติสั่งให้นายมาดูโร่อยู่ในตำแหน่งต่อไป ดอกนี้หลายคนถึงกับกุมขมับเลยใช่ไหมละ…เกิดการประท้วงทางการเมืองในประเทศบานปลายรุนแรงจนมีผู้เสียชีวิตนับร้อยคน
ปี 2016 ราคาน้ำมันยังคงลดลงต่อเนื่อง สถานการณ์ภายในประเทศก็วิกฤตถึงขีดสุด หน่วยงานรัฐแทบจะไม่มีเงินมาจ่ายเงินเดือนคนงาน ถึงขั้นต้องให้หยุดงานและทำแค่สัปดาห์ละ 2-3 วันเท่านั้น เหนื่อยใจจริงๆ
ภาคการผลิตถูกควบคุมโดยรัฐบาล ที่ดินที่เคยเป็นของประชาชนก็มาอยู่ในมือของรัฐบาล เมื่อรัฐบาลถังแตกทุกสิ่งอย่างเลยอลหม่าน ที่ดินนะสำคัญนะครับถึงจะมีน้ำมันหรือมีทองก็อย่าได้ขายให้คนอื่นเชียว…จำไว้เป็นบทเรียนสู่บทสรุปไม่เสียหายครับเชื่อ Timmy เถอะ
การล่มสลายทางเศรษฐกิจ ส่งผลให้ประเทศเวเนซุเอลามีคนแค่ 2 ชนชั้น ก็คือคนรวยมาก และคนจนที่ไม่มีอันจะกิน ส่วนชนชั้นกลางนะรึ ไม่ต้องพูดถึงไหลไปกองรวมกับชนชั้นล่างอย่างหลีกหนีไม่พ้น
รัฐบาลมาดูโร่ พยายามแก้ปัญหาเงินเฟ้อหลายวิธี ทั้งการเพิ่มเงินเดือนขั้นต่ำ 30 เท่า ก็ยังไม่ได้ช่วยอะไร ทั้งการสร้างเงินสกุลใหม่ที่มีค่ามากกว่าเงินสกุลเดิม 100,000 เท่า เพื่อให้คนไม่ต้องขนเงินเป็นกระสอบไปซื้อของก็ยังไม่เป็นผล
และด้วยความที่เขาไม่อยากเป็น “ประธานาธิบดีคนแรกในประวัติศาสตร์ 50 ปีของเวเนซุเอล่า ที่ตัดโครงการประชานิยมทิ้ง” ทำให้รากที่ฝังลึกของปัญหาดังกล่าว ก็ยังไม่ถูกแก้ไข…เชื้อมะเร็งร้ายก็ยังลุกลามต่อไป
ปัจจุบัน คนจนในเวเนซุเอล่า ต้องเลือกระหว่าง จะเป็นพวกแบมือขอ หรือจะเป็นพวกดิ้นรนไปตายเอาดาบหน้า ดังนั้นชาวเวเนซุเอล่า 3-4 ล้านคน จากประชากรทั้งหมดราว 32 ล้านคน จึงทำการอพยพลี้ภัยไปยังประเทศข้างเคียงอย่างบราซิล หรือโคลัมเบีย และอีกหลายแสนตั้งใจจะเดินเท้าข้ามประเทศเพื่อเข้าสู่สหรัฐอเมริกา…มันน่าเศร้านะครับ
บทความคิดบวกในมุมเล็กๆ ตอน “เวเนซุเอลา” ก็ได้แต่ภาวนาด้านบวก ส่งกำลังใจด้านบวกไปให้ถึงประชาชนชาวเวเนซุเอลาทุกคนผ่านวิกฤตในคราวนี้ไปให้ได้และนำบทสรุปสู่บทเรียนสอนลูกสอนหลานต่อไป
และเราคนไทยก็เช่นกัน คิดบวก วิกฤตครั้งนี้คือบทเรียนที่คนไทยทุกคนต้องเรียนรู้ ต้องตระหนักให้มาก โครงการประชานิยมใช่ว่าจะไม่ดีไปซะหมดหากโครงการนั้นสนับสนุนแค่อุปกรณ์หาเลี้ยงชีพ ให้แห ให้อวนหาปลา ให้จอบ ให้เสียมทำมาหาเลี้ยงชีพด้านเกษตรที่ชำนาญ ที่เหลือประชาชนต้องดิ้นรนด้วยตัวเอง ยืนด้วยลำแข้งของตัวเอง แข็งแรงและเข้มแข็งด้วยตัวเอง อันนี้ต้องขอบคุณ
แต่หากโครงการไหนหลอกให้ประชาชนทำโครงการหลอกๆ ไร้สาระ เอาเงินเข้ามาถมเมื่อเงินหมดโครงการก็ล้มไปโดยไม่มีคนรับผิดชอบ โครงการเหล่านี้ต้องรีบสะสางให้สะอาดก่อนสิ่งเล็กน้อยจะลุกลามจนเป็นเนื้อร้ายยากต่อการรักษาเหมือนอย่างชาวเวเนซุเอลากำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้ ผมเชื่อว่าไม่มีใครอยากเห็นมันเกิดขึ้นกับคนไทยอย่างแน่นอน
ในอดีตมีประเทศไหนบ้างที่เคยประสบปัญหาแบบเดียวกับชาวเวเนซุเอล่าในปัจจุบัน
- เยอรมนี ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 ปี 1920
- ฮังการี ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เคยมีเงินเฟ้อทำสถิติสูงสุดในประวัติศาสตร์ถึง 41,900,000,000,000,000%
- รัสเซีย หลังเกิดเหตุการณ์ล่มสลายของสหภาพโซเวียต
- ซิมบับเว ที่พิมพ์เงินออกมาจำนวนมากจนไร้ค่า โดยเคยออกธนบัตรมูลค่า 100,000,000,000,000 ดอลลาร์ซิมบับเว ในปี 2008 ก่อนยกเลิกสกุลเงินของตัวเอง เปลี่ยนไปใช้ดอลลาร์สหรัฐ เมื่อปี 2009 ประเทศเหล่านี้ยังผ่านวิกฤตกาลที่คล้ายคลึงกันมาได้ ประชาชนชาวเวเนซุเอลาก็ต้องผ่านวิกฤตในครั้งนี้ไปให้ได้….แล้วกลับมาเข้มแข็งเหมือนกับประเทศที่ได้ยกตัวอย่างเพื่อเทียบเคียงในอนาคตอันใกล้
เอาใจช่วยครับ เราคนไทยก็ต้องศึกษาบทสรุปเบื้องต้นสู่บทเรียนให้เร็วก่อนที่ทุกสิ่งอย่างจะสายเกินไป เอาใจช่วยทุกคนทุกฝ่าย สุดท้ายก็ขอส่งแรงใจทั้งหมดที่มีไปยังชาวเวเนซุเอล่าทุกคน
“ผมเชื่อว่าคุณทำได้ โชคดีครับ”